บทสัมภาษณ์นักกายภาพบำบัด ตอน มองร่างกายผ่านสายตานักกายภาพ

บทสัมภาษณ์นักกายภาพบำบัด ตอน มองร่างกายผ่านสายตานักกายภาพ

บทสัมภาษณ์นักกายภาพบำบัด ตอน มองร่างกายผ่านสายตานักกายภาพ
มองร่างกายผ่านสายตานักกายภาพ

 

ไม่รู้ว่าหลายคนจะสงสัยเหมือนแอดมินมั้ยว่าทำไมเวลาเรามีอาการปวดแล้วไปหานักกายภาพเขาสามารถประเมินได้ไงว่าเราเป็นโรคอะไร หรือ มีความผิดปกติตรงส่วนไหนของร่างกาย วันนี้แอดมินเลยขอสัมภาษณ์ พี่เซ้ง กภ.ชวกิจ เก้าเอี้ยน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ mr.big และ พี่แม๊ค กภ.เศรษฐศักดิ์ ศิริกำเนิด นักกายภาพบำบัดประจำ mr.big clinic ที่มีประสบการณ์ในวงการกายภาพบำบัดมานานกว่า 15 ปีกันครับ

ในสายตานักกายภาพมากประสบการณ์เวลาเห็นสรีระร่างกาย มักจะเห็นอะไรที่แตกต่างจากสายตาคนทั่วไปยังไง?

พี่แม๊ค : เวลาที่มีคนไข้เข้ามาที่คลินิก นักกายภาพก็จะมีสัญชาตญาณถูกสอนมาให้มองการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถว่ามีความไม่สมดุลตรงไหนบ้าง อาศัยการดูเยอะๆ เจอเคสบ่อยๆ ทำให้มีประสบการณ์ในการมองคนไข้มากขึ้น เหมือนอาจารย์บางท่านเห็นคนไข้เดินมาก็รู้แล้วว่าเป็นอะไร ตรวจร่างกายคนไข้เพิ่มอีกหน่อย

พี่เซ้ง : ตั้งแต่ตอนเรียนเราจะได้จับกล้ามเนื้อทุกมัดเลย ยกเว้นพวกกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ข้างในร่างกาย แต่เราเห็นและได้เรียนรู้จากอาจารย์ใหญ่โดยตรง จำได้ในทุกรายละเอียด หลังจากเรารู้จักแล้วว่ากล้ามเนื้อ ข้อต่อ กระดูกเส้นประสาท และเส้นเอ็นมันเป็นยังไง เราก็จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ปกติและไม่ปกติมันเป็นยังไง แล้วเกิดจากอะไร ต่อไปนานๆจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้ก็จะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ตอนเรียน พอเราออกมาใช้ชีวิตเราจะติดพฤติกรรมแอบสังเกตคนโน้น คนนี้ ท่ายืน ท่าเดิน แล้วก็คิดต่อไปว่าเขาน่าจะปวดอะไร ป่วยเป็นอะไร เป็นต้น

พี่เซ้ง พี่แม๊ค มีประสบการณ์ในวงการกายภาพบำบัดมานานเท่าไหร่แล้วครับ?

พี่เซ้ง : พี่จบปี 49 จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

พี่แม๊ค : ส่วนพี่ก็จบมาจากที่เดียวกับเซ้งปี 49 เหมือนกัน หลังจากนั้นก็อยู่กับคนไข้มาตลอดเป็นสายคลินิกทั้งที่ไทยและต่างประเทศ เจอคนไข้มาทุกรูปแบบทั้งระบบประสาท โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง และคนไข้ที่มีปัญหาปวดกล้ามเนื้อต่างๆ

พี่เซ้ง : ทั้งสองแบบเลยนะที่ต้องใช้ทักษะการมอง แล้วก็มีอีกหนึ่งที่ต้องใช้ทักษะการมองก็คือ "เด็ก" พอเราทำงานกับเด็กเราต้องใช้สัญชาตญาณด้านการมองการสังเกตเยอะมาก เช่น ดูว่าอายุประมาณนี้เขาต้องเคลื่อนไหวยังไง และเขาขาดอะไรไปบ้าง

ปัญหาในเด็กที่พี่เซ้งและพี่แม๊คเจอ อะไรบ่อยที่สุด?

พี่เซ้ง : เด็กที่เจอบ่อยคือมีปัญหาขาดออกซิเจนตั้งแต่ในครรภ์และตอนออกมาจากครรภ์ของแม่แล้ว และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าที่มาจากพันธุกรรม ซึ่งเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจะค่อนข้างสังเกตความผิดปกติยากกว่า

พี่แม๊ค : สำหรับพี่ เมื่อก่อนเจอเด็กที่มีปัญหาแบบที่เซ้งบอกเยอะมาก แต่ช่วงหลัง พบว่าเด็กมีปัญหาอาการปวดเยอะมากขึ้น เมื่อก่อนเราเรียนเรารู้ว่าเด็กไม่ค่อยปวดแต่เดี๋ยวนี้น้องอายุ 9 ขวบ คุณแม่พามาปรึกษาเพราะมีปัญหาปวดคอ ซึ่งน่าเกิดจากพฤติกรรมของเด็กที่มักจะอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ไอแพด ซึ่งส่งเสริมให้เขาเริ่มมีปัญหาในอาการปวดมากขึ้น

คุณเซ้ง : เมื่อก่อนเด็กมักจะปวดเพราะหิ้วกระเป๋าหนักไปโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้กระเป๋าจะไม่ค่อยหนักล่ะแต่จะไปใช้ร่างกายที่ผิดท่ากับโทรศัพท์มือถือ และ คอมพิวเตอร์ กันซะมากกว่า

ถ้าจะเปรียบตัวเองเป็นอะไรสักอย่าง พี่เซ้ง พี่แม๊ค จะเปรียบตัวเองเป็นอะไร?

พี่แม๊ค : ในมุมมองของพี่ที่ทำสายคลินิกมาตลอด พี่คิดว่าตัวเองเหมือนเครื่องสแกนในสนามบิน เวลาเราเดินผ่านมันจะบอกว่ามีอะไรซ่อนอยู่ มีอะไรแปลกปลอม ในมุมของนักกายภาพก็มองว่าคนไข้มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ข้างใน อาจจะมีปัญหากระดูกสันหลังคด กล้ามเนื้อดึง มันมีปัญหาอยู่ข้างใน นักกายภาพมีเครื่องมือ 2 อย่าง คือ สายตาในการใช้วิเคราะห์ และ มือใช้ในการจับดูสแกนว่ามีอะไรผิดปกติรึป่าว

พี่เซ้ง : พี่เปรียบตัวเองเป็นตำรวจจับคนทำผิด แต่นิสัยพี่คือจับคนทำท่าผิด ก็จะไปสะกิดให้เขาเปลี่ยนท่า คนไหนยืนแอ่นพุงพี่จะไปสะกิดให้เขาแขม่วท้อง ดึงกระดุมเม็ดบนขึ้น

ทักษะในการมองแบบ PT Vision ใครก็เป็นได้รึเปล่า ต้องใช้ประสบการณ์ขนาดไหน?

พี่เซ้ง : นักกายภาพมีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่พี่จะต้องฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ อย่างเช่นพี่เห็นคนเดินมาหาเราที่บูธบอกว่าปวดคอมากเลย อยากได้หมอนที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาหน่อย เราเห็นเขาเราบอกได้ว่าเขาน่าจะมีอาการ Bamboo spine วันที่พี่เพิ่งจบมาใหม่ๆพี่ก็ไม่รู้หรอกนะว่า Bamboo spine มันเป็นยังไง ดูก็ไม่รู้ แต่ว่าพี่ได้เจอและเคยได้รักษาคนไข้ที่มีอาการนี้มาก่อน เลยเห็นว่าโรคนี้มีลักษณะอาการเป็นยังไง และเรียนรู้ที่จะประเมินอาการคนไข้ในเบื้องต้นและรักษาได้อย่างรวดเร็ว

อยากรู้ว่าโรค Bamboo spine ที่พี่เซ้งพูดถึงคืออะไรครับ?

พี่เซ้ง : Bamboo spine เป็นโรคที่กระดูกสันหลังมันเชื่อมติดกัน ปกติแล้วแต่ละข้อของกระดูกสันหลังจะต้องมีเจลวุ้นเชื่อมกันในแต่ละข้อ แต่โรค Bamboo spine มันจะมีแต่แคลเซียมไปเกาะยึดแข็งกันเป็นลำเหมือนกระบอกไม้ไผ่แข็งๆ ทำให้ไม่สามารถก้มหรือหมุนได้ ซึงอาการเหล่านี้ควรตรวจเลือด ปรึกษาแพทย์ด้านกระดูกและข้อ และพบกับนักกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดปวดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพราะคนไข้ที่เป็น Bamboo spine จะหายใจได้ไม่เต็มที่ และกระดูกเปราะลง

นั่งก็ปวด นอนก็ปวด จะรู้ได้ไงว่าปวดเพราะอะไร?

พี่เซ้ง : ก็จะต้องหาสาเหตุก่อนว่าเราปวดแบบไหน ทำกิจกรรมอะไรแล้วทำให้ปวดมากขึ้น ทำอะไรทำให้ปวดน้อยลง เริ่มปวดเมื่อไหร่ และ หลังทำกิจกรรมอะไรแล้วปวด ก็จะทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าปวดจากอะไร และเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง แต่ถ้าจะให้บอกว่าปวดจากอะไร

สามารถรับชมวิดีโอฉบับเต็มได้ที่นี้เลยครับ